ยังกวนโค.Com สาระดีดีต้องที่ ยังกวนโค

เครน อุปกรณ์ยกสิ่งของขึ้นที่สูงให้เป็นเรื่องง่ายในงานก่อสร้าง

ลองนึกภาพของการยกสิ่งของต่าง ๆ จากพื้นขึ้นสู่ที่สูงหากไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลือนี่คืองานอันแสนยุ่งยากและใช้กำลังคนเยอะมาก จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ “เครน” เข้ามามีบทบาทต่องานก่อสร้างโดยเฉพาะกับอาคารสูง สะพาน และอื่น ๆ มีด้วยกันหลายประเภทตามลักษณะการใช้งาน แถมยังถูกจัดอยู่ในหมวดอุปกรณ์ก่อสร้างที่ถูกคิดค้นมาตั้งแต่ยุคโบราณอีกด้วย

เครน คืออะไร มีประวัติที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง

เครน หรือบางคนจะเรียก ปั้นจั่น ก็ได้เช่นกัน นี่คืออุปกรณ์สำหรับยกวัตถุต่าง ๆ จากพื้นด้านล่างขึ้นสู่ที่สูงโดยอาศัยหลักการทำงานของเชือกรอกมัดกับวัตถุดังกล่าวหรือเคลื่อนย้ายตามแนวนอนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง การเคลื่อนที่อาจใช้จากกำลังของเครื่องจักรทั่วไปเพื่อสร้างการได้เปรียบเชิงแรงกลไปจนถึงมอเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ แต่วัตถุประสงค์ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก เน้นเคลื่อนย้ายหรือยกวัตถุที่มีน้ำหนักมากให้ไปยังจุดหมายที่ต้องการ
คราวนี้เมื่อย้อนกลับไปถึงเครนตัวแรก ๆ ของโลก ตามการบันทึกในประวัติศาสตร์มีชื่อว่า “Shaduf” อุปกรณ์ยกน้ำซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นตั้งแต่ยุคเมโสโปเตเมีย จากนั้นก็ปรากฏหลักฐานลักษณะเดียวกันช่วงยุคอียิปต์โบราณ กระทั่งเครนก่อสร้างมีการพัฒนาจริงจังและถูกใช้งานครั้งแรกยุคกรีกโบราณซึ่งยังคงใช้แรงขับเคลื่อนจากมนุษย์หรือสัตว์จำพวกลา ม้า มีจุดประสงค์สำหรับการก่อสร้างอาคาร จนเวลาล่วงเลยมาถึงยุคจักรวรรดิโรมันก็ได้มีการพัฒนาเครนขนาดใหญ่ขึ้นทำให้สามารถยกของน้ำหนักเยอะได้ มีเป้าหมายเพื่อใช้ในการก่อสร้างและงานขนส่งสินค้าตามท่าเรือ และท้ายที่สุดก็ยังคงถูกพัฒนาต่อเนื่องจนเป็นแบบที่พบเห็นกันทุกวันนี้

ประเภทของเครนที่พบเจอในปัจจุบัน

1. เครนเหนือศีรษะ และเครนขาสูง (Overhead Crane and Gentry Crane)

มักพบเจอตามโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับใช้เคลื่อนย้ายสิ่งของที่น้ำหนักไม่มาก ยกง่ายเพื่อนำวัตถุขึ้นไปยังที่สูงหรือย้ายไปอีกจุดหนึ่ง ใช้พื้นที่ติดตั้งไม่เยอะ ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า ราคาไม่สูงมาก

2. เครนหอสูง (Tower Crane)

เครนประเภทนี้จะถูกใช้ในงานก่อสร้างเป็นหลักเพราะมีความสูงในระดับเหมาะสมต่อการยกสิ่งของขึ้นไปสู่ด้านบนได้ง่าย อีกทั้งยังแข็งแรงมากรองรับวัตถุน้ำหนักเยอะแบบไร้กังวล จึงช่วยประหยัดแรงงานคนได้ดีเยี่ยม อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่ติดตั้งและใช้งานต้องประเมินเรื่องความปลอดภัยอยู่เสมอ

3. รถเครน เรือเครน (Mobile Crane)

เครนประเภทนี้มีจุดเด่นตรงการเคลื่อนที่ด้วยตนเองได้ ไม่ต้องติดตั้งแค่จุดเดียว เหมาะกับการใช้งานพื้นที่ขนาดใหญ่ต้องเคลื่อนย้ายสิ่งของหลายจุด แต่รองรับน้ำหนักได้ไม่มากนักเนื่องจากการยึดเกาะพื้นไม่ได้แน่นหนาเหมือนกับแบบอื่น มักเห็นติดตั้งบนรถบรรทุกหรือเรือขนาดใหญ่

ชนิดของเครนตามลักษณะการใช้งาน

อย่างไรก็ตามถ้าแบ่งชนิดของเครนตามลักษณะการใช้งานก็จะแยกย่อยออกได้เป็น 2 กลุ่ม ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันออกไปด้วย

1. เครนชนิดเคลื่อนที่ได้

มีทั้งรถเครนและเรือเครน สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องเสียเวลารื้อถอนหรือติดตั้งใหม่หลายรอบ มักตั้งอยู่บนยานพาหนะ ได้แก่

  • – รถเครนล้อยาง รถบรรทุกล้อยางทั่วไปซึ่งกระบะด้านหลังจะมีเครนติดตั้งอยู่ แบ่งบูมเฟรมออกเป็นท่อน ซึ่งจะเคลื่อนย้ายเข้าออกเฉพาะบูมเฟรมท่อนแรก มุมเลี้ยวแคบจึงใช้งานกับพื้นที่จำกัดได้ดี
  • – รถเครนตีนตะขาบ ใช้ล้อตีนตะขาบในการเคลื่อนที่ บูมเฟรมแบบสานนิยมใช้กับพื้นที่ทำงานที่พึ่งมีการบุกเบิก ดินเหนียวหรือร่วน ไม่ต้องกลัวการตกหล่ม แต่ไม่นิยมใช้วิ่งบนพื้นเรียบหรือวิ่งระยะทางไกล
  • – รถเครน 4 ล้อ มีทั้งแบบขับเคลื่อน 2 ล้อ และ 4 ล้อ นิยมใช้กับพื้นที่บุกเบิกใหม่เช่นกันแต่ไม่ถึงขนาดตะลุยได้เท่าแบบตีนตะขาบ วิ่งระยะไกลได้แต่ใช้ความเร็วต่ำ
  • – เครนติดรถบรรทุก จะคล้ายกับเครนล้อยางแต่ตัวเครนจะถูกนำมาติดตั้งบนรถบรรทุก สามารถรื้อถอนได้ นิยมใช้ยกของน้ำหนักไม่มากนัก มีทั้งแบบปกติและพับหลัง

2. เครนชนิดอยู่กับที่

เป็นเครนที่ติดตั้งอยู่บนพื้นที่แห่งหนึ่งแบบตายตัว ไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำงาน เช่น การก่อสร้าง การเคลื่อนย้ายได้ดีขึ้น

  • – เครนหอสูง ขนย้ายสินค้าได้ทุกทิศทาง ต้องติดตั้งรางวิ่งกับโครงสร้างให้สูงกว่าพื้นทั่วไป มักพบเจอบริเวณที่ก่อสร้างอาคารสูง รับน้ำหนักได้เยอะมาก
  • – เครนราง มีรอกไฟฟ้าติดตั้งระหว่างคาน 2 ฝั่ง นิยมใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมยกสิ่งของน้ำหนักไม่เยอะมากนัก
  • – เครนติดผนัง มีทั้งแบบคนเดี่ยวและคานคู่ ส่วนมากนิยมทำเป็นเครนวิ่ง 2 ระดับ ด้านบนเป็นเครนเหนือศีรษะด้านล่างติดผนัง ใช้กับการยกของน้ำหนักไม่มาก มีระยะวิ่งเหมาะสมไม่ยาวเกินไป

เชื่อว่าจากข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของเครนได้มากขึ้น และอย่าลืมเน้นความปลอดภัยทุกครั้งเมื่อใช้งานหรือต้องอยู่บริเวณพื้นที่ที่มีอุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งอยู่เสมอ